เมื่อ นย.เหยียบฝั่งพลัน เหตุคับขันจักคลี่คลาย
ยุทธการของทหารนาวิกโยธิน
“ลมหายใจแห่งความคิดถึง”ของผมได้เล่าถึง”ยุทธการกรุงชิง”ไว้สั้นๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ผมนำปืน 105 มม. 2 กระบอกไปเข้าที่ตั้งยิงที่ลานสกา นครศรีธรรมราช เพื่อยิงสนับสนุนในพื้นที่ปฏิบัติการของ ฉก.นย.201 จึงขอนำเรื่องราวของยุทธการกรุงชิงครั้งนี้จากบันทึกของกรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือมาเพิ่มเติมดังนี้
วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๐ เป็นวันที่ทหารนาวิกโยธินทุกคนภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่การปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ด้วยการยึด และทำลายค่ายกรุงชิงลงได้ในที่สุด
หลังจากยึดค่ายกรุงชิงได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร และได้ทรงทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็นโครงการพระราชดำริขึ้น ทรงให้สร้างทางเข้าไปในพื้นที่และโครงการชลประทาน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินต่อไป ด้วยเหตุนี้ทหารนาวิกโยธิน จึงต้องอยู่รักษาพื้นที่อีกระยะหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพด้วยความปลอดภัย และต่อมาเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่สงบเรียบร้อยอย่างมั่นคงแล้ว ทหารนาวิกโยธินจึงได้ถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติ ในเดือน ตุลาคม ๒๕๒๔ รวมระยะเวลาที่ทหารนาวิกโยธินปฏิบัติราชการอยู่ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช นานถึง ๔ ปี ๗ เดือน มีหน่วยต่างๆ หมุนเวียนไปปฏิบัติการจำนวน ๕ หน่วย ดังนี้
๑. ฉก.นย.๒๐๑ ตั้งแต่ ๒๓ ก.พ.๒๕๒๐ – ๓๐ ก.ย.๒๕๒๐ กำลังหลักจัดจาก พัน.ร.๘ ผส.นย.
๒. ฉก.นย.๒๐๒ ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๒๕๒๐ – ๓๐ ก.ย.๒๕๒๑ กำลังหลักจัดจาก พัน.ร.๑ ผส.นย.
๓. ฉก.นย.๒๑๘๑ ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๒๕๒๑ – ๓๐ ก.ย.๒๕๒๒ กำลังหลักจัดจาก พัน.ร.๘ กรม ร.๓ นย.
๔. ฉก.นย.๒๒๗๑ ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๒๕๒๒ – ๓๐ ก.ย.๒๕๒๓ กำลังหลักจัดจาก พัน.ร.๗ กรม ร.๓ นย.
๕. ฉก.นย.๒๓๙๓ ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๒๕๒๓ – ๓๐ ก.ย.๒๕๒๔ กำลังหลักจัดจาก พัน.ร.๙ รอ. กรม ร.๓ นย.
“เมื่อ นย.เหยียบฝั่งพลัน เหตุคับขันจักคลี่คลาย”
ฉก.นย.๒๐๑
การยึดค่ายกรุงชิงของ ผกค.จังหวัดนครศรีธรรมราช
๒๓ ก.พ.๒๕๒๐ – ๒๐ ต.ค.๒๕๒๐
เหตุผลการจัดทหาร นย.ปราบปราม ผกค.ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช...
ค่ายกรุงชิงเป็นค่ายของ ผกค.อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ ๔ ของกองทัพบก และกองทัพภาคที่ ๔ ได้ส่งกำลังเข้าปราบปราม ผกค. ณ ที่แห่งนี้มาหลายครั้งก็ยังไม่สามารถปราบปราม ผกค.ส่วนนี้ให้หมดสิ้นไปได้ เนื่องจากขาดแคลนกำลังพล กองทัพภาคที่ ๔ จึงเสนอให้กองทัพบก ขอกำลังทหารนาวิกโยธิน จำนวน ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลัง ช่วยเหลือในการปราบปราม ผกค.กลุ่มนี้ ในที่สุดกองบัญชาการทหารสูงสุดจึงได้อนุมัติตามคำขอของกองทัพบก
เมื่อพูดถึงกำลังของ ผกค.ในจังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นต้นมา กรมนาวิกโยธินได้รับคำสั่งให้จัดกำลังทหารนาวิกโยธิน ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลัง ทำการปราบปราม ผกค., จคม. ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เรียกกำลังทหารนาวิกโยธินหน่วยนี้ว่า ฉก.นย.๑๘๕ และทำการปราบปรามในปี พ.ศ.๒๕๑๙ อีก ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลัง เรียกชื่อหน่วยนี้ว่า ฉก.นย.๑๙๒
อาจเป็นเพราะการปฏิบัติในการปราบปราม ผกค.ของหน่วยทหารนาวิกโยธินที่ภูหินร่องกล้า รอยต่อจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์และเลย ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ และปราบปราม ผกค.ที่ดอยผาจิ จังหวัดเชียงรายในปี พ.ศ.๒๕๑๗ กับปราบปราม ผกค., จคม. และ ขจก. ในภาคใต้ที่จังหวัดนราธิวาสและปัตตานีปี พ.ศ.๒๕๑๘ และ ๒๕๑๙ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวติดต่อกันมา ๔ ปี คงจะได้ผลดีตามที่หน่วยเหนือสั่งการ ฉะนั้นในปี ๒๕๒๐ นี้ ทหารนาวิกโยธินจึงได้รับคำสั่งให้จัดกำลังไปปราบปราม ผกค. ที่ค่ายกรุงชิงอีก ทั้ง ๆ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มิได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือแต่อย่างใด
การประกอบกำลัง.....
กรมนาวิกโยธินได้สั่งการให้ ผส.นย.จัดกำลัง ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลัง โดยสนธิกำลังจาก พัน.ร.๓ และ พัน.ร.๘ ผส.นย. นอกจากนี้กองทัพเรือได้จัดกำลัง ๑ ร้อย.ป.๑๐๕ มม. ๔ กระบอก, ๑ หมวดบินทหารเรือให้ขึ้นอยู่ในอัตราหน่วยเฉพาะกิจนี้ด้วย เรียกหน่วยนี้ว่า “หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑” เรียกชื่อย่อว่า “ฉก.นย.๒๐๑” มี น.ท.ศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ ผบ.พัน.ร.๘ ผส.นย. เป็น ผบ.ฉก.นย.๒๐๑
นอกจากนี้ ฉก.นย.๒๐๑ ยังมี ตชด.๑ หมวด จำนวน ๒๕ นาย และทหารช่างจาก ทบ.จำนวน ๑ หมวดขึ้นสมทบอีกด้วย
การปฏิบัติ...
ฉก.นย.๒๐๑ ได้ทำการปราบปราม ผกค.ที่ค่ายกรุงชิง ตำบล นบพิตำ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช โดยขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับ ทภ.๔ ตั้งแต่ วันที่ ๒๓ ก.พ.๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๒๐ ต.ค.๒๕๒๐ รวมระยะเวลาประมาณ ๘ เดือน โดยนำกำลังเข้าปิดล้อม และหาข่าว ระหว่างวันที่ ๒๔ ก.พ.๒๕๒๐ ถึง ๒ มี.ค.๒๕๒๐ และนำกำลังเข้ากวาดล้างตั้งแต่วันที่ ๓ มี.ค.๒๕๒๐ ถึง วันที่ ๒๐ ต.ค.๒๕๒๐
ในห้วงเวลาของการปฏิบัตินี้ทหารนาวิกโยธินในหน่วย ฉก.นย.๒๐๑ ต้องพบกับความยากลำบากนานาประการต้องขุดหลุมนอน ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว เพราะพื้นที่เต็มไปด้วย ผกค.และกับระเบิดอีกมากมาย อาหารต้องให้หน่วยเหนือส่งให้ด้วยการทิ้งร่ม หรือส่งทางเฮลิคอปเตอร์ บ้างครั้งไม่สามารถส่งให้ได้เนื่องจากสภาพลมฟ้าอากาศ หรือป่ารกทึบเกินไป จึงต้องดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการหาอาหารเองในภูมิประเทศ แต่ทหารนาวิกโยธินทุกคน ก็มิได้ย่อท้อแต่ประการใด เพราะทุกคนนึกอยู่เสมอว่า “ภารกิจย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้แต่ชีวิตของตนเอง”
ในที่สุด ฉก.นย.๒๐๑ ก็สามารถบุกถึง ค่ายกรุงชิง อันเป็นกองบัญชาการใหญ่ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภาคใต้ซึ่งยังไม่เคยปรากฏว่าทหารหน่วยใดได้เข้าไปถึงมาก่อน ได้ทำลายและยึดค่ายกรุงชิงสำเร็จเมื่อ ๑๕ เม.ย.๒๕๒๐ ทหารนาวิกโยธิน ได้ชักธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา ณ ค่าย ผกค.ที่ ๓๑ ในค่ายกรุงชิงแทนธงแดงตราค้อนเคียวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภาคใต้ เพื่อประกาศว่า “แผ่นดินไทยต้องมีเฉพาะธงชาติไทยผืนเดียวเท่านั้น” สามารถทำลายค่ายพัก และแหล่งสะสมเสบียงอาหารของ ผกค.ได้มากมายในจำนวนสิ่งที่ยึดได้นั้นมีผ้าแดงผืนใหญ่ผืนหนึ่ง มีตราค้อนเคียวและพิมพ์อักษรไทยว่า “เหมาเจ๋อตุงจงเจริญ” ทำให้พวกเราที่ได้พบเห็นอดคิดไม่ได้ว่านี่เป็นแผ่นดินไทยมิใช่หรือ เหมาเจ๋อตุงมีความสำคัญต่อคนไทยมากมายอย่างนั้นเชียวหรือ จึงต้องยกย่องกันถึงเพียงนั้น
"สำหรับท่านผู้นี้จะเป็นใหญ่ในที่อื่นเราไม่เกี่ยว แต่ถ้าจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไทยแล้ว พวกเราทหารนาวิกโยธินทุกคน จะยินยอมไม่ได้เป็นอันขาด มิฉะนั้นในภายภาคหน้า ลูกหลานไทยของเรา มีโอกาสหรือที่จะ ร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง”
การเดินทางกลับที่ตั้งปกติ……..
เนื่องจาก ฉก.นย.๒๐๑ ปฏิบัติภารกิจในการปราบปราม ผกค.ในพื้นที่ จนสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๒๐ และ บก.ทหารสูงสุด ได้สั่งให้คงกำลังทหารนาวิกโยธินเพื่อปราบ ผกค.ในพื้นที่นี้ต่อไปอีก ๑ ปี กรมนาวิกโยธินจึงได้จัดกำลัง ฉก.นย.๒๐๒ มาผลัดเปลี่ยนกำลังของ ฉก.นย.๒๐๑ เพื่อให้ ฉก.นย.๒๐๑ เดินทางกลับที่ตั้งปกติและฟื้นฟูหน่วยต่อไป
ฉก.นย.๒๐๑ ซึ่งสนธิกำลังจาก พัน.ร.๓ ผส.นย. และ พัน.ร.๘ ผส.นย. กำลังจาก พัน.ร.๓ ผส.นย. ออกเดินทางโดยทางเรือจาก สน.สข. เมื่อวันที่ ๑๖ ต.ค.๒๕๒๐ และเดินทางถึงที่ตั้งปกติสัตหีบเมื่อวันที่ ๑๘ ต.ค.๒๕๒๐ ส่วนกำลังจาก พัน.ร.๘. ผส.นย. เดินทางกลับเข้าที่ตั้งปกติที่สงขลาเมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค.๒๕๒๐ เลิกสนธิกำลัง ฉก.นย.๒๐๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ต.ค.๒๕๒๐
..............เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสร่วมรบกับเพื่อนนาวิกโยธิน ซึ่งยังประทับใจในศักยภาพของเพื่อนนักรบจากกองทัพเรือหน่วยนี้จึงขอเชิดชูวีรกรรมของทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย.
**********