ขุนจรรยาวิธาน
ต้นสกุล มะโรหบุตร
ไทยมุสลิมรุ่นแรกที่เข้าศึกษาในโรงเรียนไทยพุทธ
มุสลิมจากปัตตานีคนแรกที่เข้ากรุงเทพฯเป็นเด็กวัดบวรนิเวศวิหารกรุงเทพฯ
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๓
นับเป็นไทม์แมชชีนที่สะท้อนเหตุการณ์เมื่อ ๔๐ ปีก่อน(ขณะนี้ ๒๕๖๔)
ปัญหาของ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อนมีความละเอียดอ่อนและมีความสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง การกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามจำเป็นจะต้องเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้และมองเห็นจุดหมาย บทเรียนในอดีตและปัจจุบันสะท้อนให้เราเห็นว่าแนวทางและนโยบายรัฐต่อด้านแก้ปัญหา ๔ จังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง ด้านการปกครอง
เศรษฐกิจ สังคมหรือแม้แต่การศึกษาอยู่ในสภาพของความล้มเหลวหรือไม่บรรลุตามจุดมุ่งหมายเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีเราก็น่าจะสรุปความล้มเหลวในอดีตให้เป็นบทเรียนสำหรับการแก้ปัญหาในอนาคตอย่างน้อยที่สุดก็จะไม่เกิดความผิดพลาดเช่นนั้นอีก ปัญหา ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาซึ่งมีลักษณะเหมือนคลื่นใต้น้ำ มีการสะสมทางปริมาณและรอการเปลี่ยนแปลงทางด้านคุณภาพ
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางหรือนโยบายต่อ ๔ จังหวัดภาคใต้ด้านที่ผิดพลาดเสียใหม่แล้ว สภาพของปัญหาก็ไม่มีทางที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีได้
เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงของความขัดแย้ง ข้อเท็จจริงของสถานการณ์และสภาพของปัญหาข้อสรุปที่ถูกต้องแล้วจึงมากำหนดนโยบายและแนวทางที่จะแก้ปัญหานั้นให้ตรงเป้าหมาย รัฐควรจะยอมรับว่าการบิดเบือนข้อมูลและสถานการณ์เพื่อจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมีผลในทางลบมากกว่าทางบวก การศึกษาก็เป็นปัญหาที่เป็นรูปธรรมปัญหาหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นเนื้อหาที่แท้จริงของปัญหาชาวไทยมุสลิมใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่สมัย ร. ๖ เป็นต้นมา
ปัญหาชาวไทยมุสลิมใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่สมัย ร.๖ เป็นต้นมา นอกจากนโยบายทางด้านการเมือง การปกครองแล้วดูเหมือนว่านโยบายทางด้านการศึกษาจะเป็นหลักที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐพยายามที่จะหล่อหลอมไทยพุทธและไทยมุสลิมทางวัฒนธรรมให้เกิดเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยใช้การศึกษา หลายคนมองเห็นว่าถ้าจะเปรียบเทียบไทยมุสลิมในอดีตกับไทยปัจจุบันแล้วมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้านไม่ว่าจะเป็นทางความคิด ทัศนคติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆ ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากปัจจัยกำหนดหลายประการด้วยกัน การศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ
เพื่อให้อดีตรับใช้ปัจจุบัน รูสะมิแล ฉบับ “แลใต้” จึงใคร่เสนอด้านหนึ่งของความคิดความรู้สึกของบุคคลหนึ่งซึ่งได้ผ่านยุคสมัย และได้แลเห็นการเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาใน ๔ จังหวัดภาคใต้ และในทัศนะของชาวไทยมุสลิมที่ได้ผ่านการศึกษาระดับสูงและเป็นข้าราชการทางด้านการศึกษาในยุคสมัยแรกเริ่มของ ๔ จังหวัดภาคใต้ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เรานำมาเสนอนี้เป็นเพียงข้อเท็จจริงและความเห็นส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดก็พอที่จะทำให้ผู้อ่านได้ทราบสภาพที่แท้จริงของปัญหาระดับหนึ่ง
ข้อความต่อไปนี้เป็นการสัมภาษณ์ขุนจรรยาวิธาน ของกองบรรณาธิการรูสะมิแล ฉบับ “แลใต้” เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๓ เวลา ๑๖.๓๐ น. จังหวัดปัตตานีถอดจากเทปบันทึกเสียงแบบคำต่อคำ
แลใต้:อยากจะทราบประวัติของท่านขุน ฯ โดยสังเขป
ขุนจรรยา :ผมชื่อ หวัน ยูโซบ บิดาผมชื่อ หวันอับดุลลาห์ ท่านเป็นบุตรบุญธรรมของท่านเจ้าเมืองคึกคะนอง ชอบเกะกะ เป็นคนโมโหร้าย เมื่อตอนหนุ่มท่านแต่งงานกับลูกสาวของมนตรี ซึ่งเจ้าเมืองก็เต็มใจ มีการขัดใจกันและทะเลาะกันระหว่างผัวเมียเนื่องจากท่านเป็นคนโมโหร้ายมาก จึงทำร้ายภรรยาถึงแก่ชีวิต เจ้าเมืองไม่ทราบว่าจะช่วยเหลืออย่างไรเนื่องจากเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน (พี่ของผู้หญิง) เจ้าเมืองก็เลยให้ท่านไปอยู่กรุงเทพฯ กับญาติ ต่อมาท่านได้เข้าทำงานเป็นศุลการักษ์ มีภรรยาได้ลูก ๒ คน คือผมกับน้องชาย พอดีพระยาเดชานุชิต (หนา บุนนาค) ไปพบเข้าก็เลยชักชวนพ่อผมไปทำงานที่ปัตตานีพ่อผมก็เลยคิดกลับ เนื่องจากท่านเจ้าเมืองก็ได้ตายไปแล้ว และมีการรวมเป็นมณฑลเดียวกันมี หนองจิก ปัตตานี ยะหริ่ง
พอกลับไปที่ปัตตานีได้ทำงานเป็นล่ามอัยการที่ศาลากลางจังหวัด ตอนนั้นผมอายุประมาณ ๑๐ ขวบ ก็ได้เข้าเรียนหนังสือไทย เป็นการมองการณ์ไกลของหวัน อับดุลลาห์ ที่ให้ลูกเรียนหนังสือไทย เนื่องจากเป็นภาษาต่างชาติ เพราะว่าศาสนาอิสลาม ต้องใช้ภาษามุสลิม ซึ่งใช้พูดกับพระเจ้าได้เป็นหลัก ภาษาไทยไม่ใช่ในหลักศาสนาของเขา ตอนเข้าเรียนตอนแรก พวกชาวบ้านนินทามาก หาว่าผมจะเปลี่ยนศาสนาใหม่
แลใต้ :ท่านขุนเป็นมุสลิมคนเดียวในโรงเรียนหรือเปล่า?
ขุนจรรยา :มีขุนจารุวิเศษศึกษากร ชื่อเดิมชื่อ เจะมู ต้นสกุลจารุวิเศษ อีกคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นศึกษาธิการอำเภอ แล้วก็ยังมีนิมา (ยังไม่มีนามสกุล) แต่นิมาเรียนได้ไม่นาน พ่อแม่ไม่ค่อยชอบให้เรียนก็เลยให้ออก คือเป็นแบบนี้ บิดาผมชอบให้เรียนหนังสือไทย เที่ยวไปชักชวนหลาย ๆ คน ให้เรียนหนังสือไทย สำหรับขุนจารุฯ พ่อเป็นคนจีนแต่มานับถืออิสลาม คนไทยที่เรียนด้วยกันอีกคนก็คือขุนธำรงภักดี แต่เป็นรุ่นใหญ่กว่า ขุนจารุฯ ก็ยังอยู่ตอนนี้ แต่หลงๆ ลืมๆ ตอนสมัยเรียนหนังสือด้วยกัน หากวันไหนไปสาย ขุนจารุฯ ท่านจะเดินก้าวยาวๆ ส่วนผมต้องวิ่งตามหลัง
แลใต้ : ท่านขุนฯ พอจะทราบไหมครับว่า ทำไมคุณพ่อให้ท่านเรียนหนังสือไทย?
ขุนจรรยา :เป็นเพราะบิดาของผมได้ไปเห็นอะไรแปลกๆ ทางกรุงเทพฯ และท่านได้ทำงานที่กรุงเทพฯ จึงอาจเป็นแรงผลักดันให้ท่านสนับสนุนให้ลูกเรียนหนังสือไทย ผมเรียนหนังสือจนอายุ ๑๘ ปี จึงสำเร็จครูมูลที่ปัตตานี โอนจากโรงเรียนประสิทธิวิทยามายังโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ตอนนั้นโรงเรียนเบญจมฯ ยังไม่ได้สร้าง ตอนสอบผมสอบได้ที่หนึ่ง ที่สอง ทางมณฑลจึงได้ส่งผมไปเรียนฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯ
(ตามภาพข้างต้น นับถึงปีพ.ศ.๒๕๒๓)
แลใต้ :ตอนไปเรียนหนังสือ ท่านขุนฯ มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง มีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่บ้างไหม?
ขุนจรรยา :เนื่องจากผมเรียนหนังสือเก่ง และเรียนได้สำเร็จออกมา เพื่อนบ้านก็พอใจและไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน เพื่อนๆ ก็เกรงใจผม เมื่อกลับมาก็เป็นครูประจำมณฑล คือโรงเรียนเบญจมราชูทิศในปัจจุบันนี้
แลใต้ :ท่านขุนฯ ไปเรียนฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯกี่ปี?
ขุนจรรยา :ผมไปเรียน ๓ ปี ผมหัวทึบหน่อย สอบปีแรกตก แต่สอบที่ปัตตานีได้ที่สอง เขาเรียกที่ ๑ กับที่ ๒ แต่ผมสอบตกความจริงเขาเรียนจริงๆ ๒ ปี ตอนนั้นเรียนที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน วังใหม่ เขาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย ป.ม. แต่พวก ป.ป. เขาให้ไปเรียนที่วัดบวรฯ ผมก็ไปเป็นลูกศิษย์วัดเสียปีหนึ่ง
ที่วัดบวรฯ ในวันพระทุกคนต้องไปฟังเทศน์ ผมก็ไปฟังกับเขาด้วย ทางวัดก็รู้ว่าผมเป็นมุสลิม เขาจึงให้ผมนั่งที่ไหนก็ได้ ผมชอบอยู่หลังพระประธานแอบมองดูพวกอุบาสกอุบาสิกา โดยเฉพาะพวกสาวๆ ตอนผมกินอาหารเขาก็จัดให้ผมอยู่หัวโต๊ะ มีอาหารพิเศษต่างหาก คือปลาช่อนต้มกะทิกับไข่เค็มเป็นประจำ
ผมกลับมาเป็นครูที่ปัตตานี ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ นับว่าเป็นการรับราชการครั้งแรก ตอนนั้นเป็นครูน้อย สอนชั้นมัธยม ๓ สอนอย่างดีเด็กสอบได้ยกชั้น ผมเปลี่ยนเกณฑ์ติดสินเป็น ๖๐% เด็กก็ยังได้หมด ท่านศึกษาธิการมณฑลก็เลยส่งผมไปเป็นครูใหญ่สายบุรี ตอนนั้นยังเป็นจังหวัดสายบุรีอยู่ เป็นครูใหญ่อยู่ที่นั่น ๓ ปี พอดีทางอำเภอเบตงต้องการศึกษาการอำเภอ ให้ทางการส่งนายยูโซ๊ป ไปเป็นศึกษาธิการอำเภอเบตงเงินเดือน ๘๐ บาท ผมอยู่สายบุรีได้เงินเดือน ๕๐ บาทเท่านั้น ตอนนั้นพระยารัตน์เป็นปลัดจังหวัดอยู่ ผมถามเพื่อนๆ ก็บอกว่าอย่าไปเลยมาเลเรียกินตาย ผมก็เลยไปบอกกับปลัดจังหวัดว่าผมไม่ไป ผมกลัวตายท่านบอกไปเถอะได้เงินกันดารด้วย ๒๐ บาท ผมเลยแจ้งว่าถ้าหากได้เงินกันดารจริง ผมไป โดยโทรเลขถึงเทศาปัตตานี บอกว่าผมสมัครไป แต่ต้องได้เบี้ยกันดาร
สมัยนั้นการไปเบตงต้องไปทางเคดาห์ จากเคดาห์ไปขึ้นรถไฟที่โคกโพธิ์ ผมต้องกินควีนินเป็นเดือนเพราะกลัวตาย ผมอยู่เบตงได้ ๓ ปี ตอนนั้นพอดีศึกษาธิการจังหวัดสตูลว่างลง สตูลขึ้นกับมณฑลภูเก็ต เขียนจดหมายมาทางปัตตานี บอกว่าต้องการคนพื้นเมืองไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดสตูล ผมเลยสมัครไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดสตูล ผมอยู่สตูล ๓ ปี จากนั้นย้ายไปอยู่หลังสวน ตอนนั้นหลังสวนขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ขณะอยู่หลังสวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหม่อมเจ้า ไม่ค่อยชอบ เพราะผมเป็นมุสลิมมาเป็นศึกษาธิการจังหวัด จึงเกรงว่าพระสงฆ์จะอดตายแน่ ท่านผู้พิพากษา พระดุลยนาทนัยวิจิตร ท่านชอบนิสัยผม ปลอบผมว่าจะต้องเอาชนะผู้ว่าราชการจังหวัดหลังสวนให้ได้
ตอนนั้นหลังสวนเป็นจังหวัด คนมุสลิมก็ไม่มี ผมเลยออกหนังสือไปยังส่วนต่างๆ ในจังหวัด ให้ส่งลูกเสือมาชุมนุมกันแล้วเชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธาน ให้โอวาทแก่ลูกเสือ เมื่อจบก็ให้ลูกเสือถวายพระพรแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากนั้นท่านก็เลยชอบผมเรียกใช้เป็นประจำเลย พระสงฆ์เห็นผมก็ไม่ค่อยชอบ ตอนทำพิธีไหว้ครู ผมก็ให้ครูบ้าง ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดบ้าง ทำหน้าที่แทนในพิธีทางสงฆ์ ช่วงนั้นเจ้าคณะจังหวัด ไม่ค่อยพูดจากันถามคำตอบคำ พอดีมีวัดหนึ่งฝังลูกนิมิต ผมเขียนจดหมายถึงครูใหญ่ที่พอนำนักเรียนมาได้ ให้นักเรียนนำข้าวสารมาคนละ ๑ กระป๋องนม จัดเป็นขบวนแห่ไปยังวัด ปรากฏว่าได้ข่าวสารมากมาย เจ้าคณะจังหวัดชอบมาก
ต่อมาพระยาเมธามาตรวจราชการปักษ์ใต้ ผู้ว่าราชการมณฑลปรึกษากับพระยาเมธาธิบดี ให้ย้ายผมไปอยู่กระทรวง ในกรมวิชาการ ท่านให้แต่งตำราวิธีสนทนาภาษามาลายู พอดีศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสว่าง ผมก็เลยไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสเสีย ๘ ปี จากนั้นย้ายเข้ากระทรวง หลังจากนั้นผมก็ลาออก ต่อมาทางการมีนโยบายสอนภาษามาลายูในโรงเรียน เขาก็เรียกผมไปอีกทีหนึ่ง ช่วงนั้นผมอยากอยู่สงขลามาก เพราะผมได้ภรรยาที่สตูลคนหนึ่ง ผมได้อยู่สงขลาอีก ๘ ปี ในตำแหน่งศึกษาธิการภาค ในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายมาเลย์
แลใต้ :รู้สึกว่าตอนแรกที่ท่านขุนฯ ถูกส่งเข้าเรียนหนังสือ ในโรงเรียนไทยพุทธ เพื่อนบ้านมุสลิมจะไม่ใคร่พอใจใช่ไหมครับ แล้วต่อมาชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีใหม่ เป็นเพราะอะไรครับ?
ขุนจรรยา :ในช่วงตอนแรก เขาเข้าใจว่าผมจะเปลี่ยนศาสนาไปเพราะอิทธิพลของโรงเรียนไทยพุทธ แต่พอมาตอนหลัง ผมยังยึดถือขนบธรรมเนียมของมุสลิมอยู่ เช่นผมยังไปละหมาด ไปโบสถ์บ้าง เขาก็เข้าใจดีขึ้น
แลใต้ :สภาพการศึกษาของชาวไทยมุสลิมในเวลานั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีโรงเรียนปอเนาะหรือไม่?
ขุนจรรยา :โรงเรียนปอเนาะยังไม่มี แต่เขาสอนตามบ้าน ในหมู่บ้านหนึ่งมีครูสอน ๑ คน สอนพวกคัมภีร์โกระอาน แต่ไม่ได้แปล เพียงแต่อ่านให้คล่องปากเท่านั้น มุสลิมถือว่าคัมภีร์โกระอานเป็นภาษาอาหรับ หากไม่ได้ฝึกตั้งแต่เด็กแล้วลิ้นไม่ให้ บางคนสอนภาษามาเลย์ ภาษามาเลย์คือตัวโกระอานนั่นเอง แต่ภาษามุสลิมพื้นเมืองไม่สามารถเขียนเป็นตัวหนังสือได้ เช่น มาแก ซึ่งแปลว่ากินข้าว ต้องเขียนเป็น มากัน จึงจะเขียนเป็นตัวหนังสือได้ โดยเอาตัวหนังสืออาหรับมาเขียน คัมภีร์โกระอานเน้นอ่านไว้ เรื่องเข้าใจหรือแปลความไม่เน้น การเรียนขึ้นอยู่กับฐานะของพ่อแม่และโอกาส ผมก็เบื่อเรียนเหมือนกันพวกคัมภีร์โกระอาน เพราะมันไม่รู้เรื่อง แต่จำเป็นเพราะกลัวครูมาก
แลใต้ :พอมีโรงเรียนปอเนาะแล้ว การเรียนเกี่ยวกับหลักศาสนามีในปอเนาะหรือเปล่า?
ขุนจรรยา :ปอเนาะมีไว้สำหรับชั้นผู้ใหญ่ ส่วนของเด็กต้องเรียนตามบ้าน โดยมีครูเป็นผู้สอนเป็นทานให้ พอสิ้นปีพ่อแม่ของเด็กให้ค่าตอบแทนเป็นพวกข้าสาร ปอเนาะแลว่ากระท่อม คือคนที่มีความรู้แล้ว จะสอนตามบ้านก็ไม่พอ ต้องมาสร้างเป็นกระท่อมเล็กๆ อยู่กันเป็นกลุ่มของปอเนาะ สอนการอ่านคัมภีร์โกระอาน การละหมาด การบวชสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นตามประเพณีมุสลิมและมีมานานแล้ว แต่ของทางราชการเพิ่งมีระยะหลังครูในปอเนาะมีอิทธิพลต่อสังคมมุสลิมมาก คล้ายๆ กับสมภารของไทย
แลใต้ :หลังจากมีการประกาศ พรบ. ประถมศึกษาแล้ว ซึ่งย่อมไปกระทบกับโครงสร้างการศึกษาเก่าของสังคมมุสลิม ไม่ทราบว่าปฏิกิริยาหรือผลต่อชาวไทยมุสลิมอย่างไรบ้างในสมัยนั้น?
ขุนจรรยา :เราไม่เดินตามกฎหมาย ๑๐๐% เต็ม มีการผ่อนผันบ้าง การที่พ่อแม่ไม่ยอมส่งลูกให้ไปโรงเรียน เนื่องจากขัดกับหลักศาสนาและถือว่าภาษาไทยมีเสียงดนตรีมาก พูดและอ่านได้ยาก ทำให้เด็กเบื่อเรียน ทางอำเภอต้องปรับกันจึงยอมส่งเด็กๆ ให้ไปเรียน ตอนแรกความไม่พอใจมีแน่นอนแต่ตอนหลังจึงเริ่มเปลี่ยนบ้าง
แลใต้ :ไม่ทราบว่าระบบการศึกษาสมัยนั้น ตามแผนการศึกษาใหม่ ได้ผลมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทัศนคติและวัฒนธรรมหรือในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ?
ขุนจรรยา :มีผลบ้าง ตอนแรกอาจมองไม่เห็น แต่ตอนหลังชักเริ่มเปลี่ยนค่านิยมบ้าง ดูจากผมเป็นตัวอย่าง เรียนจบก็มีงานทำ มีคนเคารพนับถือ แต่ก็มีคนในหมู่บ้านหลายคนคิดอยากจะเรียนบ้างแต่ก็ติดขัดด้านเศรษฐกิจ และภาษาไทยก็ยาก ขนาดแบบเรียนเร็วเล่มหนึ่ง กว่าจะเรียนจบต้องใช้เวลาหลายปี แสดงว่าระบบการศึกษาของเรายังไม่ดีพอไม่ผลิตลูกให้ออกไปได้ตามที่พ่อแม่หวัง ตอนหลังเริ่มมีคนเรียนสำเร็จบ้างแล้ว อีกอย่างภาษาไทยไม่ค่อยได้ใช้เป็นประจำ แต่อย่างของมุสลิมเขาใช้อยู่ทุกวัน
แต่อย่างไรก็ตามระบบการศึกษาก็ไม่ได้ล้มเหลว แต่ก็ไปอย่างช้ามาก ผมเองไปเป็นครูใหญ่อยู่สายบุรี ปีแรกไม่มีนักเรียนเลยสักคนเดียว ปีที่สองมีคนมาสมัคร ๓ คน เขาพยายามเลี่ยงกฎหมายบางทีทางการอำเภอไปสำรวจประชากรที่บ้าน ยังสั่งให้ลูกวิ่งหนีเข้าป่าไปก็มี แต่ในปัจจุบันนี้ชาวไทยมุสลิมเริ่มสนใจให้ลูกไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนหากเทียบกับในสมัยก่อนเพิ่มขึ้นประมาณ ๓๐% ในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้ทำมาหากินได้คล่องกว่า แสดงว่าการศึกษาของเรานี้ให้ประโยชน์แก่เขาไม่ได้เต็มที่ เพราะเขาไม่ทราบว่าจะเอาไปทำอะไรที่ไหน และอีกย่างหนึ่งข้าราชการของเราไม่ค่อยได้เข้าไปคลุกคลีกับราษฎรมากนัก ภาษาราชการของเรามันเรียนยาก ราษฎรของเราต้องเรียนภาษาราชการ แต่ภาษาที่เราใช้เป็นประจำเราไม่ได้สอน เรามีนโยบายครั้งหนึ่งให้สอนภาษามาลายู แต่ขาดการจ้ำจี้จ้ำไช เลยไม่ได้ผลตามโรงเรียนมักมองข้ามภาษามาลายู เช่น โรงเรียนจีนในสมัยก่อน เขาต้องการให้รู้ภาษาจีน
แลใต้ :ทุกวันนี้ชาวไทยมุสลิมมีความพอใจหรือไม่ที่ทางรัฐบาลส่งเสริมโรงเรียนปอเนาะให้มีมากขึ้นและคิดว่าได้ผลขนาดไหน?
ขุนจรรยา :ก็รู้สึกพอใจ เราขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ยังดีที่รัฐได้ชักจูงให้มีการศึกษามากขึ้น ถ้าเราส่งเสริมให้เขารู้สักภาษาหนึ่งก่อนให้ดี ต่อไปเขาอยากจะเรียนภาษาอื่นๆ ตามมาเอง แต่มีปัญหาตรงผู้สอนจะต้องสอนให้รู้จริงก็คิดว่าได้ผลบ้างระดับหนึ่ง ไม่ทราบว่าขนาดไหน
แลใต้ :ผู้นำปอเนาะมีบทบาทขนาดไหน ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวบ้าน?
ขุนจรรยา :มีมากทีเดียว ของเราผู้ที่มาสอนปอเนาะไม่ค่อยมีความรู้ และไม่รับการศึกษาเท่าที่ควร แต่เวลานี้เรามีการเปลี่ยนแปลงแล้ว คือ มีการจดทะเบียนมีการให้ครูไปสอน เริ่มมีการสอนพวกอาชีพบ้าง เช่น ช่างไม้ การบัดกรี แต่ครูปอเนาะของเรามักไปเรียนที่เมกกะ เมื่อเทียบกับของมาเลเซีย ครูปอเนาะของเขาก็ไปเมกกะเช่นเดียวกัน แต่มาตรฐานปอเนาะของมาเลเซียสูงกว่าของเรามากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามสภาพปอเนาะของเราในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเก่ามากทีเดียว เนื่องจากว่ามีการสอนภาษาไทยมากขึ้น และมีการประกวดคุณภาพการสอนของปอเนาะด้วย
แลใต้ :การตั้งมหาวิทยาลัยที่ปัตตานี ชาวไทยมุสลิมถือว่าเป็นการถูกกลืนชาติทางอ้อมหรือไม่?
ขุนจรรยา :ไม่มี คือคนเราเรียนอะไรสักอย่างให้ดีมันอยากจะรู้อะไรอีกมาก
แลใต้ :ตามความเห็นของท่านฯ คิดว่าทำไมความรู้สึกต่อต้าน หรือความเป็นชาตินิยมของชาวไทยมุสลิมในปัจจุบันนี้จึงได้ลดน้อยลง เป็นเพราะมีการศึกษามากขึ้นหรือไม่?
ขุนจรรยา :ผมว่าเป็นเพราะขาดผู้นำ ในสมัยก่อนนี้มีเจ้าเมืองอยู่ ทำอะไรมีคนเชื่อถือมาก แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มี เลยขาดแกนนำไป สำหรับการศึกษาอาจมีผลทั้งสองด้าน คืออาจทำให้คนที่เรียนได้เข้าใจอะไรมากขึ้น การต่อต้านหรือความเข้าใจผิดๆ ก็ลดน้อยลง แต่บางทีการที่เขาได้รู้อะไรมากขึ้นก็ทำให้เขาได้มองเห็นความไม่เป็นธรรมและสิ่งที่ไม่ถูกต้องมากมาย ก็ยิ่งทำให้เขามีความรู้สึกต่อต้านและไม่ชอบมากขึ้น
แลใต้ :อยากทราบความรู้สึกของท่านขุนฯ ตอนสมัยจอมพลแปลก พยายามปฏิวัติวัฒนธรรมของไทย ไม่ทราบว่ามีผลหรือเกิดปฏิกิริยาอย่างไรบ้างต่อชาวไทยมุสลิม?
ขุนจรรยา :ชาวบ้านไม่ค่อยพอใจนโยบายของรัฐบาลที่ให้แต่งตัวให้รัดกุม ท่านจอมพลแปลก ท่านอยากให้เป็นแบบญี่ปุ่น ชอบความรวดเร็วมีวินัยเอาการเอางาน แบบไทยมันช้ามาก การกินหมากกินปูนก็เลิก นุ่งโสร่งก็ไม่ได้ แต่พวกหนุ่มๆ ชอบใจหันมานุ่งกางเกงแทน แต่ทางปัตตานีมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก
แลใต้ : เกี่ยวกับบทบาทของผู้นำทางศาสนาอิสลามถ้าท่านขุนฯ จะให้คะแนนในด้านความร่วมมือ คิดว่าดีแล้วหรือยัง?
ขุนจรรยา :มีน้อยมาก
แลใต้ :จากการสังเกตโดยทั่วไป มีแนวโน้มว่าชาวไทยมุสลิม หันมาประกอบธุรกิจการค้ามากขึ้น ไม่ทราบว่าจะเป็นการขัดแย้งกับหลักการทางศาสนาหรือไม่? อยากทราบความคิดเห็นว่าการศึกษามีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้หรือไม่หรือเป็นเพราะปัจจัยอย่างอื่น
ขุนจรรยา : เป็นเพราะมีการศึกษามากขึ้น การศึกษาทำให้คนเราฉลาดได้และไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนา เป็นการค้าที่ไม่เอากำไรเกินควร ไม่คิดดอกเบี้ย จะเห็นว่าชาวไทยมุสลิมจะขายของไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับพ่อค้าคนไทย หรือคนจีน
แลใต้ :จากประสบการณ์ของท่านขุนฯ คิดว่าปัญหาที่สำคัญของ ๔ จังหวัดภาคใต้ที่แท้จริงคืออะไร?
ขุนจรรยา :สำหรับปัญหานี้ผมบอกให้ชัดเจนไม่ได้มันมีหลายปัญหาร่วมกัน จะบอกว่าปัญหาหนึ่งสำคัญกว่าอีกปัญหาหนึ่งไม่ได้ มันมีทั้งปัญหาการปกครอง ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการศึกษาดังที่ผมกล่าวแล้ว โดยทั่วไปแล้วปัญหาศาสนาภาษา ไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่สำคัญหรือความขัดแย้งโดยตรง แต่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ ผมว่าแนวทางในการแก้ไขก็คือ การให้การศึกษาโดยพยายามปรับนโยบายการศึกษาใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นและปัญหา การปกครองต้องมีความเสมอภาคและยุติธรรม เจ้าหน้าที่ปกครอง และคนไทยพุทธจะต้องมีท่าทีที่ไม่ดูถูกเหยียดหยาม (เพราะไทยมุสลิมมีการศึกษาน้อยกว่า) ชาวไทยมุสลิม จะต้องมองเห็นว่าเราเป็นพี่น้องร่วมชาติกัน